สารบัญเนื้อหา

คดีก่อสร้าง ว่าจ้างทำของ คืออะไร

        ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือถูกผู้รับเหมาโกงในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่คนอยากมีบ้านและต้องการปลูกสร้างบ้านเป็นของตนเอง รู้สึกหวาดกลัวและกังวลใจ เพราะพบเห็นได้บ่อย และยังทำให้เจ้าของบ้านต้องเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา เนื่องจากเป็นคดีความที่ต้องต่อสู้กันในชั้นศาลอีกด้วย 

ว่าจ้างทำของ คืออะไร

      การว่าจ้างทำของ หมายถึง การที่ผู้รับจ้างตกลงรับทำงานใดงานหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่ผู้ว่าจ้าง และ ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างให้ ในคดีก่อสร้างการจ้างไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน วางระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา หรือจ้างจัดสวน การกระทำลักษณะพวกนี้ทางกฎหมายจัดอยู่ในเรื่องของการจ้างทำของ สาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของ มีดังนี้

  1. สัญญาจ้างทำของ ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ งผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยทางผู้ว่าจ้างจะต้องให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น โดยสินจ้างขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง
  2. สัญญามุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นหลัก หมายความว่า ผู้รับจ้างมีอิสระในการทำงาน โดยที่นายจ้างไม่ได้ต้องการแรงงานในการจัดทำของหรืองานนั้น ๆ อีกทั้งไม่ต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างเหมือนกับสัญญาจ้างแรงงาน ต้องการให้ผู้ว่าจ้างทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
  3. สัญญาจ้างทำของไม่มีรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างสามารถ

ตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือจัดทำสัญญาจ้างทำของแบบไหน เพื่อให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย หรือจะตกลงกันด้วยวาจาก็สามารถทำได้

กฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้อง

     การจ้างก่อสร้างบ้าน ถือเป็นสัญญาจ้างทำของชนิดหนึ่ง หมายความว่า ไม่ต้องทำหนังสือสัญญาว่าจ้างก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยสามารถใช้พยานบุคคลในการสืบ หรือภาพถ่าย หรือพยานวัตถุอื่น เข้าสืบเพื่อให้ได้ความจริงโดยไม่มีสัญญาว่าจ้าง สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างทำของ เข้าข่ายเป็นคดีแพ่งเพราะมีสัญญาเกิดขึ้นระหว่างกัน คือผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

  • มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
  • มาตรา 588 เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา
  • มาตรา 589 ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาต้องจัดหาชนิดดี
  • มาตรา 590 ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่ง ท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวังและประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่า เมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว มีสัมภาระเหลืออยู่ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง
  • มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน
  • มาตรา 592 ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น
  • มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย
  • มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดีท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร
  • มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้ แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่า ผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น
  • มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

คดีก่อสร้าง ว่าจ้างทำของ เรียกร้องอะไรจากคู่กรณีได้บ้าง

     ผู้รับจ้าง ฟ้องร้องบังคับคดีกับผู้รับจ้าง ในกรณีผู้รับจ้างทำงานไม่สำเร็จหรือไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ค่าเสียหายที่อาจเรียกร้องได้จากผู้รับจ้างผิดสัญญา มีดังนี้

  1. เรียกเงินค่าจ้างจากผู้รับจ้างคืน
  2. ค่าปรับหรือเบี้ยปรับส่งมอบงานล่าช้า
  3. ค่าเสียหายกรณีงานที่รับจ้างชำรุดบกพร่อง
  4. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ เนื่องจากการผิดสัญญา
  5. ค่าขาดโอกาสทางการค้า เช่น ก่อสร้างร้านอาหาร ศูนย์การค้า
  6. ค่าแก้ไขแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา
  7. ค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการจ้างผู้รับเหมารายใหม่
  8. ค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดจากการผิดสัญญาทั้งหมด

อายุความ คดีก่อสร้าง ว่าจ้างทำของ

     กรณีผู้รับจ้างฟ้องผู้ว่าจ้าง เรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างทำของ มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) อายุความกรณีชำรุดบกพร่อง คดีผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายใน1 ปีนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้ ฟ้องผิดสัญญาเรียกค่าเสียหาย อื่น ๆ มีอายุความ 10 ปี

     บริษัท สำนักกฎหมายธนกฤช จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านกฎหมายและให้บริการทางกฎหมายด้านต่าง ๆโดยทีมนักกฎหมายที่ มีประสบการณ์ด้านคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โทร : 02-439-3486

สำนักงานกฎหมายธนกฤช

25 ซอยเจริญนคร 36 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง กรุงเทพมหานคร 10600

สาระความรู้กฏหมาย