สารบัญเนื้อหา

คดีฉ้อโกง คืออะไร

            คดีฉ้อโกง คือความผิดทางอาญาฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรบอก ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริต โดยที่ผลของการหลอกลวงทำให้ผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ที่ถูกหลอกลวงหรือคนอื่น ๆ หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

คดีฉ้อโกง เป็นคดีแพ่ง หรือ อาญา

    ฉ้อโกง เป็นการกระทำความผิดโดยใช้เล่ห์อุบายลวง ทำให้เข้าใจผิดหรือหลงผิด สำคัญผิด เป็นอาชญากรรมที่มุ่งต่อทรัพย์สิน มีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้ชัดเจน และต้องมีเจตนานี้มาตั้งแต่ต้น

กรณีตัวอย่างของคดีฉ้อโกง

    ฉ้อโกง เป็นการกระทำความผิดโดยใช้เล่ห์อุบายลวง ทำให้เข้าใจผิดหรือหลงผิด สำคัญผิด เป็นความผิดที่มีหลายลักษณะตั้งแต่หลอกลวงคนคนเดียวไปจนถึงหลอกลวงคนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ่งที่ต้องการจากการหลอกลวงก็จะแตกต่างกันไป ดังนี้

  • หลอกขายของ ตัวอย่าง ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง เช่น การสั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้า หรือได้สินค้าไม่ตรงกับภาพสินค้าที่ทางร้านค้าได้ลงโฆษณาไว้ มีความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (1)
  • ถูกหลอกให้สั่งซื้อสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยโฆษณาขายในราคาถูกเพื่อสร้างความน่าสนใจ แต่หลังจากโอนเงินแล้ว ไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลง อัตราโทษ
  • นายหน้าโกงที่ดิน ตัวอย่าง ฉ้อโกงด้วยการใช้อุบายหลอกลวงกระทำตนเป็นนายหน้าวิ่งเต้นขายที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน และหลอกให้เจ้าของที่ดินทำสัญญามัดจำผูกมัดให้โอนที่ดินให้ ก่อน โดยชำระเงินแต่บางส่วน หลังจากนั้นสมคบกับผู้รับจำนอง หรือผู้รับซื้อฝากจดทะเบียนที่ดินนั้นต่อไปโดยไม่ชำระเงิน ส่วนที่เหลือให้
  • หลอกให้ขายของในราคาถูก ตัวอย่าง ถูกหลอกให้เป็นตัวแทนขายสินค้าราคาถูก ด้วยการสร้าง เพจเฟซบุ๊ก และนำรูปสินค้ามาลงขาย โดยโฆษณาขายในราคาถูกเพื่อสร้างความน่าสนใจ เมื่อได้รับเงินโอนและคำสั่งซื้อ ก็จะจัดส่งสินค้าที่ไม่มีคุณภาพให้กับลูกค้า หรือไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลง ทำให้ตัวแทนขายได้รับความเสียหาย
  • หลอกกินของฟรี คือการสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านค้า หรือโรงเเรมแล้วไม่จ่ายเงิน ตัวอย่าง การหลอกกินของฟรีเป็นการฉ้อโกงมีหลายรูป  เช่น รับประทานอาหารในร้านแล้วจ่ายค่าอาหารโดยใช้วิธีสแกนจ่าย แต่ใช้กลโกงไม่ได้สแกนจริง ๆ หรือ หลอกกินฟรีในลักษณะอื่น ๆ 
  • โกหกเพื่อเข้าพักในโรงแรม ตัวอย่าง หลอกลวงโดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตารแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่าง ๆ โพสต์ข้อความในลักษณะว่ามีที่พักหลุดจองราคาดี เพื่อหลอกให้ผู้ที่สนใจโอนเงิน แต่ไม่มีที่เข้าพัก
  • ถูกหลอกให้ทำงานแล้วไม่ได้เงิน เป็นการฉ้อโกงแรงงาน คือการหลอกลวง 10 คนขึ้นไปให้ทำงานให้โดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจ่ายต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้

คดีฉ้อโกง มาตรา 341

    ฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • หลอกลวง หมายความถึง ใช้เล่ห์อุบายลวงให้เข้าใจผิด, ต้มตุ๋น
  • แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หมายความถึง มีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว นำมาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงนั้นแต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ นั้นถือว่าเป็นข้อความเท็จ
  • ทรัพย์สิน หมายความถึง วัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นวัตถุมีรูปร่าง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร
  • การกระทำความผิดที่เป็นการหลอกลวง คือ การกระทำให้เข้าใจผิดหรือหลงผิด สำคัญผิด ซึ่งอาจจะกระทำโดย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริง

อัตราโทษคดีฉ้อโกง

   อัตราโทษคดีฉ้อโกง มีลักษณะความผิดตั้งแต่หลอกลวงคนคนเดียว ไปจนถึงหลอกลวงคนเป็นจำนวนมาก การได้รับโทษจะแตกต่างกัน ดังนี้

  • กรณี ทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียหาย จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณี ทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเสียหาย จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

10 คำถามที่พบบ่อย ในคดีฉ้อโกง

1. คดีฉ้อโกง ฟ้องแล้วจะได้เงินคืนไหม ?

   ตอบ  กรณีลูกหนี้มีทรัพย์สินก็สามารถบังคับคดียึดทรัพย์ได้ตามคำพิพากษา 

2. เมื่อชนะคดีแล้ว ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์ให้ยึด ทำอย่างไร ?

   ตอบ  หากสืบแล้ว ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์จริง ๆ ให้ถือคำพิพากษาไว้ เพราะยังมีเวลาให้ตามสืบตาม

ยึดทรัพย์อีก 10 ปี

3. เมื่อถูกฉ้อโกง ต้องแจ้งความดำเนินคดีที่ไหน ?

   ตอบ  สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ

4. คดีฉ้อโกงสามารถยอมความกันได้หรือไม่ ?

   ตอบ  ความผิดฐานฉ้อโกง ถือเป็นความผิดที่ยอมความได้ หมายความว่าคู่กรณีสามารถเจรจา ชำระค่าเสียหายหรือคืนทรัพย์สินให้แก่กันเพื่อยุติคดีได้ ยกเว้นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนที่ไม่สามารถยอมความได้

5. คถูกโกงแชร์ เป็นคดีอะไร ?

   ตอบ การโกง แชร์เป็นเรื่องของสัญญาต้องฟ้องคดีแพ่ง แต่หากเข้าองค์ประกอบข้อหาฉ้อโกง เช่น แสดงตนเป็นคนอื่นมาเปียแชร์แล้วเชิดเงินหนี เป็นต้น 

6. คดีฉ้อโกงติดคุกกี่ปี ?

    ตอบ ตามกฎหมายอัตราโทษคดีฉ้อโกงมีหลายรูปแบบและมีโทษแตกต่างกันไปตามแต่ละความผิด โดยอัตราโทษจะแตกต่างกัน ดังนี้

  • การฉ้อโกงผู้อื่นให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ โดยอาศัยเหตุจิตอ่อนแอ เด็กเบาปัญญาอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีฉ้อโกงค่าอาหาร โรงแรม อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  • การฉ้อโกงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินคนอื่น หรือเพื่อให้คนอื่นทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • คดีฉ้อโกงแรงงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้ทำงานโดยไม่จ่ายค่าแรงงานหรือค่าจ้าง หรือจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงกัน อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การฉ้อโกงวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีฉ้อโกงด้วยกลอุบาย แสดงตนเป็นคนอื่น หรืออาศัยความเบาปัญญาของผู้หลอกลวง อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การฉ้อโกงประชาชน อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7. คดีฉ้อโกง ไกล่เกลี่ย หรือ ยอมความได้ไหม ?

    ตอบ ความผิดฐานฉ้อโกง ถือเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ หมายความว่าคู่กรณีสามารถเจรจาชำระค่าเสียหายหรือคืนทรัพย์สินให้แก่กันเพื่อยุติคดีได้ ยกเว้นเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนไม่สามารถยอมความได้ เพราะกระทบกระต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม

8. คดีฉ้อโกงมีอายุความกี่ปี ?

  • อายุความกรณีร้องทุกข์ อายุความคดีฉ้อโกงสำหรับร้องทุกข์ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด ไม่อย่างนั้นคดีจะเป็นอันขาดอายุความในทางอาญา
  • อายุความกรณีนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยเมื่อร้องทุกข์อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือฟ้องศาลภายในอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด

9. คดีฉ้อโกง ประกันตัวเท่าไหร่ ?

     ตอบ หลักเกณฑ์การประกันตัวผู้ต้องหา คดีฉ้อโกงซึ่งเป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจใช้ดุลยพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็น ต้องมีประกันให้กำหนดวงเงิน ไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น

10. คดีฉ้อโกงติดคุกแล้วต้องใช้หนี้ไหม ?

     ตอบ กรณีลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญา และต้องโทษจำคุกแล้ว โทษที่ได้รับถือเป็นเรื่องของคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับการรับผิดทางแพ่ง เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีแพ่งต่อศาลเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เต็มจำนวนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เนื่องจากความรับผิดชอบทั้งหมดยังเป็นของลูกหนี้เหมือนเดิม

จ้างทนายคดีฉ้อโกง

     การเกิดคดีความต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้เสียหาย หรือดกอยู่ในฐานะจำเลย การว่าจ้างทนายความ หรือมีที่ปรึกษาเป็นผู้รู้ด้านกฎหมายดำเนินการให้ นอกจากช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เสียหาย ทนายความยังรู้ขั้นตอนของคดี สามารถช่วยให้ผู้กระทำความผิด ที่ต้องการความยุติธรรม ได้รับสิทธิตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้กระทำความผิดอีกด้วย สามารถติดต่อปรึกษา สำนักกฎหมายธนกฤช โทร : 02-439-3486

สำนักงานกฎหมายธนกฤช

25 ซอยเจริญนคร 36 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง กรุงเทพมหานคร 10600

สาระความรู้กฏหมาย