สารบัญเนื้อหา

คดีแพ่ง คืออะไร

       คดีที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดสัญญาข้อตกลง หรือมีปัญหาโต้แย้งกันเรื่องผลประโยชน์ จนกลายเป็นคดีความ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้จะเป็นความผิดทางแพ่งไม่มีโทษจำคุก แต่โทษสูงสุดคือถูกตัดสินให้ล้มละลาย ก็อาจทำให้ชีวิตลำบาก อีกทั้งการถูกฟ้องร้อง ยังทำให้เสียเวลา เสียโอกาสมากมาย

     คดีแพ่ง คือ คดีข้อพิพาทที่มีข้อขัดแย้ง หรือข้อโต้แย้ง กล่าวหากันเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายของบุคคลอื่น เป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของบุคคล 2 ฝ่ายซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ และเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิทางศาล เพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน ซึ่งมีทั้งขอให้อีกฝ่ายชดใช้เงิน คืนของ จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยการรับผิดทางแพ่งไม่มีโทษปรับ จำคุก กักขัง ริบทรัพย์สิน ประหารชีวิตเหมือนคดีอาญา

คดีแพ่งกับคดีอาญาต่างกันอย่างไร

   คดีแพ่งกับคดีอาญา หรือความผิดทางแพ่งและความผิดทางอาญา มีความแตกต่างกันซึ่งสามารถแยกเป็นข้อ ๆ ให้เห็นได้ชัดเจน ดังนี้

1. คดีแพ่ง

  • ความผิดทางแพ่ง เป็นเรื่องระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ไม่มีผลเสียหายต่อสังคมแต่อย่างใด
  • คดีแพ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล ที่สามารถตกลงกันเองได้โดยไม่ต้องให้รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การดำเนินคดีแพ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการฟ้องศาลเท่านั้น
  • กรณีตกลงกันไม่ได้ หรือมีความจำเป็นต้องให้ศาลรับรองสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องมีการฟ้องคดีต่อศาลก่อนกระบวนการต่าง ๆ จึงจะเริ่มต้นขึ้น
  • ความผิดทางแพ่ง เป็นเรื่องของการชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล
  • บทลงโทษทางแพ่ง กฎหมายแพ่งนั้นไม่มีโทษเป็นเพียงถูกบังคับให้ชำระหนี้หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

2. คดีอาญา

  • ความผิดทางอาญา เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความหวาดหวั่นแก่บุคคลทั่วไป ความผิดทางอาญาจึงถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดินหรือประชาชนทั่วไป
  • ความผิดทางคดีอาญามีทั้งสามารถยอมความได้ หรือที่เรียกว่า ความผิดต่อส่วนตัว และความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ หรือความผิดต่อแผ่นดิน
  • การดำเนินคดีอาญาจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์
  • สำหรับคดีอาญาอันยอมความได้ ต้องแจ้งความภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวคนทำผิด
  • ส่วนคดีอาญาแผ่นดินเป็นคดีอาญาประเภทที่ยอมความไม่ได้ การดำเนินคดีจะเริ่มต้นขึ้นทันทีที่มีการกระทำความผิด
  • กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดและโทษ กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาไว้ 5 สถาน เรียงตาม ความรุนแรงของโทษ ได้แก่ 1.โทษประหารชีวิต 2.โทษจำคุก 3.โทษกักขัง 4.โทษปรับ 5.โทษริบทรัพย์สิน

คดีแพ่ง มีอะไรบ้าง

1. คดีที่มีข้อพิพาท มีคู่ความ 2 ฝ่าย

    ฝ่ายหนึ่งถูกโต้แย้งเกี่ยวสิทธิ หรือหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง เช่น

  • ฟ้องผู้กู้ให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน/ฟ้องผู้ผิดสัญญา/ผู้ค้ำประกัน
  • ฟ้องบังคับจำนอง/ไถ่ถอนที่ดินขายฝาก/ขับไล่ผู้บุกรุกออกจากที่ดิน
  • ฟ้องให้ผู้ละเมิดต่อสิทธิ เช่น สิทธิในชีวิต/ร่างกาย/ชื่อเสียง ชดใช้ค่าเสียหาย
  • ฟ้องหย่า/รับรองบุตร/เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร/เรียกค่าชดเชยจากชู้

2. คดีที่ไม่มีข้อพิพาท

    คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองสิทธิหรือคุ้มครองสิทธิของตนเอง เช่น

  • ร้องขอแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
  • ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบรองปรปักษ์
  • ร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์/ทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์/ขอสิทธิเลี้ยงดุบุตร
  • ร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถ/เสมือนไร้ความสามารถ/สาบสูญ

ตัวอย่างคดีแพ่ง

     คดีแพ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล การฟ้องคดีแพ่งก็เพื่อเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สิน ที่ผิดสัญญาหรือโต้แย้งสิทธิกัน ตัวอย่าง เช่น

  • คดีสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต
  • คดีผิดสัญญาก่อสร้าง
  • คดีเช่าทรัพย์
  • คดีกู้ยืมเงิน ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
  • คดีมรดก

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ คดีแพ่ง

1. การถูกฟ้องคดีแพ่ง ติดคุกหรือไม่ ?

   ตอบ  การรับผิดทางแพ่งไม่มีโทษปรับ จำคุก กักขัง ริบทรัพย์สิน ประหารชีวิตเหมือนคดีอาญา โทษสูงสุดของคดีแพ่ง คือ ถูกตัดสินให้ล้มละลาย เว้นแต่ว่าเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวโยงอยู่กับคดีอาญาอาจมีโทษจำคุกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

2. ต้องการฟ้องคดีแพ่ง ต้องฟ้องศาลไหน ?

   ตอบ  คดีที่มีข้อพิพาท ฟ้องศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ หรือฟ้องศาลที่มูลคดีเกิด หากเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ฟ้องศาลที่มูลคดีเกิด หรือฟ้องศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่

3. ถูกฟ้องคดีแพ่งต้องทำอย่างไร ?

   ตอบ  ตรวจสอบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ปรึกษาทนายความ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล

4. คดีแพ่งไม่ไปศาลได้ไหม ?

   ตอบ  หากไม่ไปศาลเท่ากับเสียสิทธิในการต่อสู้ ศาลจะตัดสินตามคำฟ้องของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว โอกาสแพ้คดีสูง หากไม่ไปสามารถแต่งตั้งทนายความเป็นตัวแทนได้

5. หากไม่มีทรัพย์ให้ยึดหรืออายัดเลย จะเป็นอย่างไร ?

    ตอบ  นับตั้งแต่วันมีคำพิพากษา คดีจะมีอายุความ 10 ปี ดังนั้นภายใน 10 ปีนี้ หากลูกหนี้ได้ทรัพย์ใหม่ ๆ มา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถยึดทรัพย์เหล่านั้นได้ จนกว่าจะชำระครบ

6. คดีแพ่งมีอายุความกี่ปี ?

    ตอบ คดีแพ่งแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน มีทั้งคดีแพ่งที่มีอายุความสั้นๆ เช่น อายุความฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คมีกำหนด 1 ปี เป็นต้น รวมทั้งมีคดีแพ่งที่มีอายุความ 2 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี

7. คดีแพ่ง ยอมความได้ไหม ?

    ตอบ คดีแพ่ง สามารถยอมความกันได้ การยอมความในคดีแพ่ง เรียกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ

สำนักงานกฎหมายธนกฤช

25 ซอยเจริญนคร 36 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง กรุงเทพมหานคร 10600

สาระความรู้กฏหมาย